การเสียชีวิตของคณะสำรวจในอียิปต์ เกิดจาก "คำสาปฟาโรห์" หรือ "เชื้อโรคร้าย" กันแน่?

1919 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเสียชีวิตของคณะสำรวจในอียิปต์ เกิดจาก "คำสาปฟาโรห์" หรือ "เชื้อโรคร้าย" กันแน่?

ภาพโดย Thorsten Dittmar จาก Pixabay


"คำสาปฟาโรห์" ตำนานคำสาปที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนมากมายในคณะสำรวจ

จุดเริ่มต้นของตำนานเริ่มจากการเดินทางมายังอียิปต์ของ ฮาวาร์ด คาร์เตอร์ (Howard Cater) นักโบราณคดี และ ลอร์ด คาร์นาร์วอน (Lord Carnarvon) นายทุนผู้สนับสนุนโครงการ เพื่อค้นหาสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนที่เคยครองราชย์เหนืออาณาจักรแห่งนี้เมื่อราว 1400 ปีก่อนคริสตกาลที่ยังไม่ถูกค้นพบ

จนกระทั่งมีการค้นพบและเปิดประตูเข้าไปยังสุสานได้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1923 จนเกิดเป็นข่าวดังครึกโครมไปทั่วโลก

แต่หลังจากวันนั้นเพียง 6 สัปดาห์ นายทุนชาวอังกฤษ ตามมาด้วยสมาชิกในทีมค้นหาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายราย ก็ได้ทยอยกันล้มป่วยและเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา คล้ายกับมีอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติมาพลากชีวิตไปจากพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาทางประวัติศาสตร์และสถิติที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ ในปี 2002 ชี้ว่าคำสาปนั้น ไม่ได้ทำให้สถิติการเสียชีวิตสูงขึ้นแต่อย่างใด ทั้งยังเสนอแนะว่าเชื้อโรคหรือสารพิษก่อโรคบางอย่าง น่าจะเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต

โดย นักวิทยาศาสตร์ชาวอียิปต์ ได้วิเคราะห์และสันนิษฐานว่า ลอร์ด คาร์นาร์วอน อาจเสียชีวิตเพราะเชื้อรามรณะ (Aspergillus flavus) เข้าไปในเลือดจากแผลที่โดนยุงกัดทำให้เลือดเป็นพิษ หรือไม่ก็สิ้นใจเพราะโรคปอดอักเสบ เนื่องจากอาการของท่านขุนนางชาวอังกฤษมีความสอดคล้องกับการติดเชื้อดังกล่าว ซึ่งพบได้อย่างหนาแน่นในสุสานของกษัตริย์อียิปต์โบราณ ซึ่งงานวิจัยของการเสียชีวิตได้ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Lancet ปี 2003

แม้จะมีผู้โต้แย้งว่า ลอร์ด คาร์นาร์วอน ไม่น่าจะติดเชื้อรามรณะ (Aspergillus flavus) เพราะไม่ได้เสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอียิปต์อธิบายว่า เชื้อรามรณะดังกล่าว สามารถจำศีลสงบนิ่งอยู่ในปอดได้เป็นเวลานาน ก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้แผลงฤทธิ์ออกมาอีกครั้ง

ผู้ที่ต้องสงสัยว่าถูกคำสาปของฟาโรห์ตุตันคามุนเล่นงาน ยังได้แก่ จอร์จ เจย์ กูลด์ นักการเงินชาวอเมริกันที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าชมสุสานเปิดใหม่ โดยเขาจากไปด้วยโรคปอดอักเสบในปีเดียวกันกับที่ ลอร์ด คาร์นาร์วอน เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมี เซอร์อาร์ชิบาลด์ ดักลาส-รีด นักรังสีวิทยาผู้สแกนร่างของฟาโรห์ด้วยรังสีเอกซ์ ซึ่งเสียชีวิตลงด้วยอาการเจ็บป่วยอย่างเป็นปริศนาในปีต่อมา

กรณีของ ลอร์ด คาร์นาร์วอน และสองกรณีข้างต้น อาจถือได้ว่าเป็นหลักฐานบางส่วนที่บ่งชี้ถึงต้นตอแท้จริงของคำสาปว่า มันมาจากเชื้อรามรณะ แต่คณะสำรวจของคาร์เตอร์กลับค่อยๆ ทยอยกันเสียชีวิตจนรวมกันมากถึง 22 คน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่อาจสรุปลงไปได้อย่างแน่นอนว่า ผู้เสียชีวิตทุกรายดับสูญไปเพราะเชื้อราจริงหรือไม่ เนื่องจากบางรายเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรม และหลายรายก็ขาดข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการวิเคราะห์สาเหตุของการเสียชีวิต ทำให้ผู้คนยังคงลือกันว่า การเสียชีวิตของคาร์นาร์วรอนและคณะสำรวจนั้น เกิดขึ้นจาก “คำสาปฟาโรห์” ที่จะเอาชีวิตทุกคน

แต่ทั้งนี้ ผู้นำทีมเปิดสุสานตุตันคามุนคนสำคัญอย่าง ฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากคำสาปเลยแม้แต่น้อย และมีชีวิตยืนยาวต่อมาอีกนานหลายสิบปี ก่อนจะเสียชีวิตไปในวัยชราเมื่อมีอายุได้ราว 60 กว่าปีถ้าเป็นคำสาปของฟาโรห์จริงๆ ฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ไม่อาจรอดอาถรรพ์จากคำสาปนี้ได้แน่

ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงสันนิษฐานว่าคณะสำรวจอาจไม่ได้เผชิญกับคำสาปอาถรรพ์ เพราะอาจจะเผชิญกับเชื้อรามรณะที่อยู่ในสุสานนั่นเอง ซึ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงอาจจะไม่เจ็บป่วยด้วยเชื้อรามรณะนี้ เพราะมีคนจำนวนมากที่สูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าไปแต่ก็ไม่เป็นอะไรเลย

และเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะช่วงทศวรรษ 1970 ก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาแล้ว โดยตอนนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดี จำนวน 10 ใน 12 ราย ทยอยเสียชีวิตไปในเวลาอันสั้น หลังเปิดหีบพระศพของกษัตริย์คาซิมีร์ที่ 4 แห่งโปแลนด์ ในสุสานที่อากาศและพื้นผิวเต็มไปด้วยเชื้อราในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้